Developer:
ณรงค์ ภูมิสุข
Type:
Graduated
Abstract:
โพรโทคอลการส่งผ่านข้อมูลแบบเพียร์ทูเพียร์ เป็นโพรโทคอลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากและยาวนาน ซึ่งจะแตกต่างจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบไคลเอ็นต์เซิร์ฟเวอร์ตรงที่ จะมีการสำเนาข้อมูลจากเครื่องที่มีข้อมูลไปยังเครื่องต่อๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพรคอลบิตทอร์เรนต์ (BitTorrent Protocol) ซึ่งเป็นโพรโตคอลเพียร์ทูเพียร์ที่กำลังได้รับความนิยมสูงในขณะนี้ ใช้เทคนิคในการตัดแบ่งข้อมูลเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ทำให้ข้อมูลสามารถกระจายไปยังเครื่องอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งมีจำนวนเครื่องที่ร่วมทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยรวมของข้อมูลที่ต้องการแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเท่านั้น

โพรโทคอลบิตทอร์เรนต์สามารถรับและส่งข้อมูลได้ในคราวเดียวกัน ทำให้ใช้ทรัพยากรเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ประกอบกับมีการตัดแบ่งข้อมูลออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำให้มีโอกาสในการแย่งใช้ทรัพยากรในการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากกว่าแอพพลิเคชันอื่น ๆ ซึ่งทำให้โพรโทคอลบิตทอร์เรนต์ใช้ทรัพยากรเครือข่ายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเครือข่ายไร้สาย ที่มีทรัพยากรเครือข่ายน้อยอยู่แล้ว หากมีเครื่องเพียงแค่เครื่องเดียวที่มีการเปิดโปรแกรมบิตทอร์เรนต์โดยไม่ได้จำกัดการใช้งานแบนด์วิธอยู่ในเครือข่าย ก็จะทำให้เครื่องลูกข่ายอื่น ๆ ในเครือข่ายไร้สายได้รับผลกระทบในการใช้ทรัพยากรเครือข่ายไร้สายอย่างรุนแรง

การที่จะควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการใช้งานโปรแกรมบิตทอร์เรนต์ที่อยู่ในเครือข่ายไร้สาย จำเป็นจะต้องมีกระบวนการตรวจจับการใช้งานโปรแกรมบิตทอร์เรนต์ที่ใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพบนเครือข่ายไร้สาย ซึ่งแนวทางในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาให้ใช้ได้ประสิทธิภาพดีบนเครือข่ายชนิดสาย ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรและข้อมูลต่าง ๆ มากกว่าบนเครือข่ายไร้สาย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย

งานวิจัยนี้นำเสนอแนวทางการตรวจจับการใช้งานโปรแกรมบิตทอร์เรนต์บนเครือข่ายไร้สาย โดยอาศํยข้อมูลจากเฟรมข้อมูลของเครือข่ายไร้สาย(WLAN data frame) ซึ่งอยู่ในชั้นแม็ค (MAC Layer) ที่ถูกสร้างโดยโพรโทคอลบิตทอร์เรนต์เพื่อการควบคุมและประสานจังหวะการทำงานระหว่างเพียร์อันเป็นเอกลักษณ์ของโพรโทคอลบิตทอร์เรนต์เป็นตัวบ่งบอกถึงการมีอยู่ของกระแสข้อมูลของบิตทอร์เรนต์ ทำให้สามารถตรวจจับบิตทอร์เรนต์ได้แม้มีการเข้ารหัสข้อมูล และยังเหมาะสำหรับการนำไปพัฒนาบนอุปกรณ์ไร้สาย ที่มีทรัพยากรจำกัดอีกด้วย

Progress:
100%